สภาพฐานะและที่ตั้งวัด
วัดเขมาภิรตาราม เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดราชวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๒๔ ตําบลสวนใหญ่ อําเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
อาณาเขต
ทิศเหนือ ติดต่อเขื่อนหน้าวัด หลังโรงเรียนกลาโหมอุทิศ โรงเรียนวัดเขมาภิรตาราม ถนนพิบูลสงคราม และโรงเรียนสตรีนนทบุรี
ทิศใต้ ติดต่อวัดพลับพลา และแม่น้ำเจ้าพระยา
ทิศตะวันออก ติดต่อถนนพิบูลสงคราม โรงเรียนสตรีนนทบุรี และแม่น้ำเจ้าพระยา
ทิศตะวันตก ติดต่อแม่น้ำเจ้าพระยา
ความเป็นมา
วัดเขมาภิรตารามนี้มีมาตั้งแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เดิมชื่อ เขมา” ในสมัยรัชกาลที่ ๒ สมเด็จพระศรีสุริเยนทราบรมราชินี พระอัครมเหสีและเป็นพระราชมารดาของรัชกาลที่ ๔ ได้ทรงปฏิสังขรณ์หล่อพระประธาน พระพุทธรูปทุกองค์จนสําเร็จ เมื่อรัชกาลที่ ๒ เสด็จขึ้นเสวยราชย์แล้ว จึงได้ทรงปฏิสังขรณ์วัดเขมาเป็นการใหญ่ โปรดให้เพิ่มนามวัดเป็น “วัดเขมาภิรตาราม ทรงสร้างพระมหาเจดีย์ ปฏิสังขรณ์ซ่อมแซมเพิ่มเติมส่วนต่าง ๆ ภายในบริเวณวัดจนบริบูรณ์ มาถึงรัชกาลที่ ๕ ได้ทรงปฏิสังขรณ์อีก โปรดเกล้าฯ ให้รื้อพระที่นั่งมูลมนเทียร ในพระบรมมหาราชวังไปสร้างโรงเรียนของวัดนี้และยังใช้เป็นโรงเรียนอยู่จนทุกวันนี้
ถาวรวัตถุของวัด เป็นที่สักการะบูชาหลายอย่างด้วยกัน อาทิเช่น
พระอุโบสถ สร้างในรัชกาลที่ ๔ เพราะมีลวดลายเขียนและฝีมือช่างมีปะปนผสมกันอยู่ ๓ แบบ คือ รูปเทวดาต่าง ๆ เป็นแบบไทย รูปกระถางต้นไม้เป็นแบบจีน และช่อดอกไม้ที่ ประตูเป็นลวดลายเลียนแบบฝรั่ง ก่ออิฐถือปูน ภายในมีพระประธานปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๒.๕๐ เมตร สูง ๔.๐๐ เมตร และยังมีพระพุทธรูปหล่ออัญเชิญมาจากวังจันทรเกษมกรุงเก่า ประดิษฐานไว้ในพระอุโบสถอีกด้วย
พระมหาเจดีย์ใหญ่ สร้างในรัชกาลที่ ๔ อยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เลียนแบบพระเจดีย์ที่วัดศรีอโยธยา (วัดเดิม) จังหวัดพระนครศรีอยุธยา
ศาลาการเปรียญ สร้างในรัชกาลที่ ๔ อยู่ทางด้านขวาของพระอุโบสถ
พระวิหาร เดิมเป็นพระอุโบสถเก่า ครั้นรัชกาลที่ ๔ ได้ก่อสร้างพระอุโบสถหลังใหม่ขึ้น จึงปฏิสังขรณ์พระอุโบสถเก่าเป็นพระวิหารอยู่ทางด้านหลังของพระอุโบสถใหม่สืบจนถึงปัจจุบัน
นอกจากนี้ก็มี ตําหนักแดง พระที่นั่งมูลมนเทียร กุฏิ พระเจดีย์ เป็นต้น
ที่มา : ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒