สภาพฐานะและที่ตั้งวัด
วัดเฉลิมพระเกียรติ เป็นพระอารามหลวงชั้นโท ชนิดวรวิหาร ตั้งอยู่เลขที่ ๘๖ หมู่ ๓ ตําบลบางสีเมือง อําเภอเมืองนนทบุรี จังหวัดนนทบุรี
อาณาเขต ทิศเหนือติดต่อเขตคูวัดและที่ธรณีสงฆ์ ทิศใต้ติดต่อเขตคูวัดและที่ธรณีสงฆ์ ทิศตะวันออกติดต่อแม่น้ำเจ้าพระยา ทิศตะวันตกติดต่อเขตคูวัดและที่ธรณีสงฆ์
ความเป็นมา
วัดเฉลิมพระเกียรติเดิมเป็นบริเวณป้อมเก่าริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาใต้ตลาดขวัญ เมืองนนทบุรี ครั้นรัชกาลที่ ๓ โปรดให้พระยาพระคลัง (ดิศ บุนนาค) เป็นแม่กองสร้างวัดขึ้นในบริเวณนั้น เพื่อเป็นการเฉลิมพระเกียรติพระอัยกา พระอัยกี และสมเด็จพระราชชนนีแห่งพระองค์ และทรงพระราชทานนามพระอารามแห่งนี้ว่า วัดเฉลิมพระเกียรติ การสร้างวัดเฉลิมพระเกียรติในสมัยรัชกาลที่ ๓ ยังไม่แล้วเสร็จบริบูรณ์ รัชกาลที่ ๔ จึงทรงสร้างต่อมาเป็นการทรงสนองพระเดชพระคุณในรัชกาลที่ ๓ โปรดให้พระยาทิพากรวงศ์ (ขํา บุนนาค) เป็นแม่กองการบูรณะจนสําเร็จทั้งพระอารามและได้มีการรณะปฏิสังขรณ์กันมาเรื่อย ๆ จนถึงปัจจุบัน ส่วนปูชนียวัตถุ ถาวรวัตถุ ของวัดนี้ พอจะกล่าวโดยสังเขปได้ดังนี้
พระอุโบสถ สร้างเสร็จประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๔ เป็นศิลปะแบบไทยปนจีน ก่ออิฐถือปูน โดยสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ ภายในมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หล่อด้วยทองแดง ทั้งองค์ (แร่ทองแดงนี้นํามาจากอําเภอจันทึก จังหวัดนครราชสีมา) หล่อเสร็จเมื่อ พ.ศ. ๒๓๘๙ ในรัชกาลที่ ๔ ทรงถวายพระนามว่า “พระพุทธมหาโลกาภินันทปฏิมา” หน้าตักกว้าง ๕ ศอก สูง ๘ ศอก ๑ คืบ ๔ นิ้ว
พระวิหารหลวง สร้างเสร็จประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๔ ศิลปะแบบไทยปนจีน ก่ออิฐถือปูน โดยสร้างในสมัยรัชกาลที่ ๓ เช่นเดียวกับพระอุโบสถ ภายในมีพระประธานเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัย หน้าตักกว้าง ๓๐ นิ้ว สูง ๓๓ นิ้ว รัชกาลที่ ๔ โปรดให้อัญเชิญพระพุทธรูปที่ทําด้วยศิลาองค์นี้มาประดิษฐานไว้เมื่อ พ.ศ. ๒๔๐๑ พร้อมด้วยพระอัครสาวกซ้ายขวาเป็นศิลาสีมันปูนั่งพับเพียบ ๒ รูป บัดนี้เหลืออยู่องค์เดียวเท่านั้น และด้านหลังพระวิหารมีโพธิ์พันธุ์ พุทธคยา คือ พระศรีมหาโพธิ์ โดยในรัชกาลที่ ๔ พระปรีชาเฉลิม (เกษ) เจ้าอาวาสองค์แรก ได้รับพระราชทานมาปลูกไว้
ศาลาการเปรียญ สร้างเสร็จประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๔ ศิลปะแบบไทยปนจีน ก่ออิฐถือปูน ภายในประดิษฐานพระพุทธรูปหล่อด้วยทองแดง หน้าตักกว้าง ๓ ศอกเศษ สูง ๔ ศอกพร้อมด้วยพระอัครสาวก ๒ องค์ หล่อด้วยดีบุก นั่งพับเพียบ ประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐๑
พระเจดีย์ใหญ่ สร้างเสร็จประมาณ พ.ศ. ๒๓๙๔ เป็นศิลปะแบบลังกา ก่ออิฐถือปูนรูปทรงกลม มีฐาน ๔ เหลี่ยม ๒ ชั้น พระเจดีย์องค์นี้อยู่ทางด้านหลังในเขตแนวกําแพงแก้วเดียวกันกับพระอุโบสถ นอกจากนี้ก็มีกําแพงแก้ว กุฏิ ศาลาแดงเหนือ ใต้ เป็นต้น
ที่มา : ประวัติวัดทั่วราชอาณาจักร เล่ม ๒